Wednesday, May 1, 2024
Latest:
ทั่วไป

“ ผู้ว่าฯ 4 แผ่นดิน “ ผู้ว่าฯเกี๊ยก เปิดงานแห่นางดาน งานประเพณีที่มีอัตลักษณ์ 1เดียวในประเทศไทย และ 1เดียวในโลก 1,367 ปี แสง สี เสียง อลังการ งานสร้าง

สำนักงานข่าวหนังสือพิมพ์STNEWS รายงานวันที่ 14 เมษายน 2567 ณ สวนสาธารณะศรีธรรมโศกราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร 1 เดียวของประเทศไทย 1เดียวในโลก โดยมีนายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าฯ นายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าฯ ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ผู้แทนฝ่ายศาล ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและท่องเที่ยวเข้าร่วมชมการจัดงานเป็นจำนวนมาก พ่อเมืองปลื้ม ประเพณี 1เดียวในประเทศไทย และ 1เดียวในโลก ประเพณีเก่าแก่ 1,367 ปี

    ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช หรือเมื่อราว พ.ศ. ๑๒๐๐ โดยเป็นงานประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ นางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน ๓ องค์ องค์ละแผ่น แผ่นแรกคือพระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือพระธรณี แผ่นที่สามคือพระนางคงคา ใช้ในขบวนแห่แหนมารับเสด็จพระอิศวร (หรือพระศิวะ) ที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกในวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ คือในเดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ และจะประทับอยู่ในมณฑลพิธีบริเวณหอพระอิศวรจนกระทั่ง เดือนอ้ายแรมค่ำ จึงเสด็จกลับ (รวมเวลาที่ประทับ ๑๐ ราตรี)                   คําว่านางดาน หรือนางกระดานหมายถึง แผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จํานวน ๓ องค์ แผ่นแรก คือพระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือ แม่พระธรณี แผ่นที่สามคือ พระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่สมมุติแทนเทพทั้ง ๔ ที่จะมารอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยม มนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า เชื่อกันว่าการเสด็จมาเยี่ยมมนุษย์ โลกเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุขให้เกิดน้ําท่าอุดมสมบูรณ์และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย ซึ่งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวร จะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดูในพิธีตรียัมปวาย ประเพณีแห่นางดานเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะถือกําเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันประเพณีแห่นางดานได้มารวมไว้กับประเพณีสงกรานต์ โดยจัดขึ้นในวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี             นางดานแผ่นที่ ๑ นามว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ ตำนานนพเคราะห์โหราศาสตร์กล่าวว่าเทพบริวารพระอาทิตย์นี้พระอิศวรทรงสร้างขึ้นด้วยการเอาราชสีห์ ๖ ตัว มาป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าสีแดง ประพรมด้วยน้ำอมฤตไม่ช้าจึงเกิดเป็นเทพบุตรร่างเล็กขึ้นนามว่าพระอาทิตย์หรือพระสุริยา มีผิวกายสีแดงรัศมีกายเรืองโรจน์รอบตัว เสื้อทรงสีเหลืองอ่อนมีสี่กร กรหนึ่งใช้ห้ามอุปัทวันตราย กรสองไว้ประทานพรและอีกสองกรไว้ถือดอกบัว พระอาทิตย์เป็นเทพผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ด้วยการชักรถม้าเคลื่อนไปในจักรวาลไม่มีวันหยุด กำลังแสงของพระอาทิตย์มีพลังดูดน้ำได้ถึง ๑๐๐๐ ส่วน ดูดฝน ๔๐๐ ส่วน ดูดหิมะ ๓๐๐ ส่วน ดูดลมอากาศ ๓๐๐ ส่วน ให้พลังงานแก่สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งดินฟ้าอากาศเป็นฤดูกาล ถือเป็นเทพผู้มีคุณูปการต่อการอยู่รอดของมนุษย์สัตว์และพืชพันธุ์ พระจันทร์ตำนานนพเคราะห์โหราศาสตร์กล่าวว่า เทพบริวารองค์นี้พระอิศวรทรงสร้างขึ้นจากนางฟ้า ๑๕ นาง โดยร่ายพระเวทย์ให้นางฟ้าทั้ง ๑๕ นางนั้นป่นเป็นผงละเอียดลงแล้วห่อด้วยผ้าสีนวล ประพรมด้วยน้ำอมฤตไม่ช้าจึงเกิดเป็นเทพบุตรผิวกายสีนวล ร่างเล็กสะโอดสะอง ประทับในวิมานสีแก้วมุกดา ทรงม้าสีขาวดอกมะลิเป็นพาหนะ พระจันทร์เป็นเทพผู้สร้างกลางคืนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงามอ่อนละมุน เพราะเป็นเทพผู้สร้างกลางคืน จึงมีอีกสมญาหนึ่งว่า 'รัชนีกร' เป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อนและผสมพันธุ์สืบมาจนปัจจุบัน
          นางดานแผ่นที่ ๒ นามว่าพระธรณี เทพบริวารองค์นี้มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายที่ พระอิศวรทรงสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย เป็นผู้รับและสั่งสมสิ่งดีมีค่าอาหารและความมั่งคั่ง ยอมสละแม้เกียรติและอำนาจ จึงได้ชื่อว่า 'วสุธา' มีผิวกายสีขาวนวล พระเกศายาวเหยียดตรงเป็นโมฬีสามารถซับอุทกธาราหรือสายน้ำไว้มหาศาล เป็นเทพผู้เก็บสะสมคุณความดีและความมีคุณธรรมทั้งปวง เป็นหูเป็นตาแทนผู้อื่นได้ จึงมีสำนวนที่ว่า ใครไม่รู้ แต่ฟ้าดินรู้ เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกและร้องขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรง ถ้าหยั่งลงมาทั้งสองพระบาทก็เกรงว่าโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทลงมาเพียงข้างเดียว ในการนี้มีพระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รอรับพระบาทพระอิศวรเอาไว้ พุทธประวัติได้กล่าวถึงเกียรติคุณพระธรณีอยู่ตอนหนึ่ง คือวันเพ็ญเดือนหกก่อนพุทธกาลพระยาวัตตีมารยกพลมาขัดขวางมิให้พระสิทธัตถะ ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณแต่การณ์ไม่สำเร็จดังใจหวังเพราะพระสิทธัตถะไม่ยอมละ โพธิบัลลังก์จนกว่าจะตรัสรู้ พญามารโต้เถียงทวงสิทธิโพธิบัลลังก์ แต่พระสิทธัตถะก็ไม่หวั่นพระทัย ยังคงวางพระองค์สงบนิ่งอยู่ พญามารจึงบรรหารให้รี้พลสกลไกรย่ำยีบีฑาพระสิทธัตถะโดยพลัน พฤติการณ์ทั้งปวงนี้พระธรณีได้สดับอยู่เห็นจริงว่าพระสิทธัตถะมีเจตนารมณ์กระทำเพื่อมวลมนุษย์โดยแท้ จึงปรากฏกายขึ้นข้างบัลลังก์ใต้ร่มโพธิ์ที่พระสิทธัตถะประทับแล้วบิดน้ำในโมฬีแห่งตน กระแสชลก็หลั่งไหลออกจากเกศาแห่งห้วงมหาสมุทร ในที่สุดเสนามารก็ตายพญามารก็พ่ายหนี พระสิทธัตถะจึงสำเร็จอนุตรสัมโพธิญาณในเพลารุ่งสางแห่งราตรีนั้น
     นางดานแผ่นที่ ๓ นามว่าพระคงคา เทพบริวารองค์นี้เป็นพระธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร ฉะนั้นพระคงคากับพระอุมานอกจากจะร่วมพระชนกชนนีกันแล้ว ยังมีพระสวามีองค์เดียวกันด้วย มีผิวกายสีม่วงแก้มน้ำตาล พระคงคาแต่เดิมอยู่บนสวรรค์ เพิ่งจะลงมาสู่โลกมนุษย์ในครั้งที่ท้าวภคีรถสำเร็จการพิธีอัญเชิญให้ลงมา ชำระอัฐิโอรสท้าวสัตระที่ถูกพระกบิลบันดาลด้วยฤทธิ์เป็นเพลิงไหม้ตาย จึงจำเป็นจะต้องใช้น้ำจากพระคงคาบนสวรรค์มาชำระอัฐิจึงจะหมดบาปไปบังเกิดใน สวรรค์ได้อีก พระคงคาจึงบันดาลน้ำให้ไหลไปทางสระวินทุ แยกออกเป็นเจ็ดสาย ไหลไปทางตะวันออกสามสายกลายเป็นแม่น้ำ ชื่อว่าแม่น้ำนลินี ทลาทินีและปปาพนี ไหลไปทางตะวันตกกลายเป็นแม่น้ำอีกสามสายคือแม่น้ำจักษุ สีดา และสินธุ ส่วนอีกสายหนึ่งไหลตามรอยรถท้าวภคีรถ เรียกกันว่า 'พระคงคามหานที' แม่น้ำสายนี้นับเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ล้างบาปได้ พิธีการแห่นางดานของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชเริ่มจากการที่พระราชครู ประกอบพิธีอัญเชิญเทพนางดานทั้งสามขึ้นประดิษฐานบนเสลี่ยง (สามเสลี่ยง) ไปตั้งขบวนที่จุดนัดหมายซึ่งสะดวกแก่การชุมนุม ส่วนมากนิยมตั้งแต่ขบวนกันที่ฐานพระสยม (บริเวณตลาดท่าชีปัจจุบัน)
   ในเวลาโพล้เพล้ขบวนแห่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประโคมอันมีปี่นอก กลองแขก (หรือกลองสองหน้า)และฆ้อง ถัดมาเป็นเครื่องสูงซึ่งประกอบด้วยฉัตร พัดโบก บังแทรก บังสูรย์ มีพระราชครูเดินนำ มีปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคนมีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม ปิดท้ายขบวนด้วยนางละครหรือนางอัปสร และพราหมณ์ถือโคมบัว ขบวนก็จะแวะที่จวนเจ้าเมืองครู่หนึ่ง เพื่อบอกกล่าวและคารวะแล้วจึงมุ่งหน้าไปยังหอพระอิศวร เมื่อถึงหอพระอิศวรขบวนก็เคลื่อนเข้ามาตั้งแต่ที่บริเวณทิศใต้ของหอแล้วจึงเวียนรอบเสาชิงช้า ๓ รอบ จากนั้นพระราชครูจะอ่านโองการเชิญเทพ เริ่มต้นด้วยบทสัคเค.. จบด้วยบทบวงสรวงเทพยดา แล้วจึงอัญเชิญนางดานทั้ง ๓ มาประจำในมณฑลพิธี ที่จัดไว้ทางด้านทิศเหนือของเสาชิงช้า รอเวลาที่พระอิศวรจะเสด็จลงมาทางเสาชิงช้าในช่วงไม่กี่นาทีข้างหน้า ก่อนถึงเวลาที่พระอิศวรเสด็จลงมานางอัปสร ๑๒ นางจะรำบูชาพระอิศวร (เรียกว่า 'รำบูชิตอิศรา') จบแล้วพระยายืนชิงช้าซึ่งรับสมมุติเป็นพระอิศวรก็จะเดินเข้ามาประจำที่ชมรม (ปะรำพิธี) ถือกันว่าพระอิศวรได้เสด็จลงมาเยี่ยมโลกแล้ว พระยายืนชิงช้าที่รับสมมุติเป็นพระอิศวรนี้แต่ก่อนหมายเอาพระยาพลเทพซึ่ง เป็นเกษตราธิการหรือเจ้ากรมนาเป็นหลัก แต่งตัวนุ่งผ้าเยียรบับ (แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน) มีชายห้อยอยู่เบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด แล้วสวมเสื้อครุยลอมพอกทับลงบนเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ (ต่อมาภายหลังได้อนุโลมให้เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดรับสมมุติแทน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงยกเลิกพิธีนี้ไป)  ครั้นเมื่อมาถึงชมรม (ปะรำพิธี) พระยายืนชิงช้าก็จะนั่งยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยืนพื้นทำประหนึ่งพระอิศวรหย่อนพระบาทลงมายังโลกมนุษย์ จากนั้นนาลิวัน ๑๒ คน ซึ่งแต่งกายด้วยสนับเพลาและผ้านุ่งโจมทับ สวมเสื้อขาว คาดผ้าเกี้ยว ศีรษะสวมหัวนาค มือถือเสนง (เขาควาย) ก็จะขึ้นนั่งที่ไม้กระดานชิงช้าคราวละ ๔ ตน (เรียกว่า 'หนึ่งกระดาน') ผลัดกันไกวหรือโล้ชิงช้าให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเสมือนการทดสอบความ แข็งแรงของแผ่นดินและภูเขาว่ายังมั่นคงอยู่ดีหรือไม่ เมื่อโล้ชิงช้าครบทั้งสามกระดานแล้ว นาลิวันทั้ง ๑๒ คนก็พากันออกมารำเสนงและวักน้ำเทพมนต์จากขันสาคร ซึ่งสมมติเป็นน้ำจากห้วงมหรรณพ ถือเป็นการประสาทพรและเป็นการเล่นกันอย่างสนุกสนาน

ในปีนี้รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดจัดงานมหาสงกรานต์ในนามประเทศไทย
ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ “Maha Songkran World WaterFestival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567″เมื่อระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2567 ทั้งนี้เพื่อดัน
Soft Power เทศกาลสงกรานต์ไทยติด 1 ใน 10 งานเฟสติวัลระดับโลก และในโอกาสนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำขบวนพาเหรดสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร หนึ่งเดียวของประเทศ เข้าร่วมโชว์ในฐานะที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่มีอัตลักษณ์การจัดเทศกาลสงกรานต์ที่โดดเด่นและเป็นกลุ่มจังหวัดที่เข้าร่วมในขบวนพาเหรดการจัดงาน “Maha Songkran WorldWater Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” 1 ใน 16 จังหวัดของประเทศไทยด้วย

ภาพ-เครดิตเฟสบุ๊คผู้ว่าฯเมืองนคร ข่าว
น.ส.จันทกานต์ เรืองอิ่ม
น.ส.ญาณพันธุ์ จิตมณี
น.ส.ณัฐญาพร ส่องสว่าง
น.ส.ธนัทอร พิลาถ้อย
น.ส.อภิชญา มีผิว
น.ส.อมราพร คงสิพัฒน์
น.ส.พัณณิตา สายสินธุ์
น.ส.เกล้ากรัต พลที
น.ส.ประภาศิริ ประฉิมมะ
นาย ภูดิศ ฤทธิ์คง
นางสาวเก้าตะวัน ชื่นอำพัน
นางสาวปัทมา เจริญรส
นางสาวณัฏฐนันท์ เกตุสิงห์
นสพ.ST NEWS ออนไลน์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ชมรมสื่อโซเชียลประเทศไทย
095-342-168